โอ้ความรักไม่มีใครหนีได้ ไม่เคยหลับใหลหรือเหนื่อยหน่าย รักมาครองใจหนุ่มสาวทุกคู่ไป บ้างสุขสมบ้างตรอมตรม
ข้อความข้างต้นเป็นท่อนหนึ่งจากเพลง ‘ความรัก’ ของคุณจำรัส เศวตาภรณ์ ซึ่งเป็นท่อนหนึ่งที่ผู้เขียนชอบเป็นอย่างยิ่ง และคิดว่าเหมาะกับเทศกาลแห่งความรักที่เพิ่งผ่านพ้นไปไดเป็นอย่างดี
วันวาเลนไทน์ หรือวันแห่งความรัก วันแห่งความสุขและความหวานชื่นสำหรับใครหลาย ๆ คน ผู้เขียนเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้อ่านหลายท่านคงจะมีใครสักคนให้ ‘คลั่งรัก’ ไม่ว่าคนคนนั้นจะอยู่ในสถานะใด พ่อแม่ เพื่อน คนรัก หรือคนที่กำลังแอบชอบกันอยู่
แล้วในทัศนะของผู้อ่าน ‘ความรัก’ คืออะไร ?
หลังจากที่เห็นคำถามแล้ว ผู้อ่านหลายท่านอาจจะมีคำตอบที่แตกต่างกันไป บางท่านอาจจะมองว่าความรักคือความรู้สึกปรารถนาดีต่อใครสักคนหนึ่งโดยไม่หวังผลตอบแทน บางท่านอาจจะมองว่าความรักคือความรู้สึกที่มีหลายระดับ ตั้งแต่ความชอบ อารมณ์ดึงดูดที่มีต่อใครสักคนหนึ่ง ไปจนถึงความผูกพัน บางท่านอาจจะมองว่าความรักคือความเสน่หา ความปรารถนาที่จะทำสิ่งดี ๆ ให้ใครคนหนึ่งอย่างเต็มใจ และหวังที่จะได้อยู่เคียงข้างเขาตลอดไป แต่ไม่ว่านิยามรักในใจของผู้อ่านจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม นิยามนั้นก็ไม่มีผิดมีถูก ความรักจะหมายความว่าอย่างไรสุดแล้วแต่ใจของผู้อ่านว่าจะให้ความหมายกับมัน
แต่ผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า แล้วตัวละครในวรรณคดีที่น่าจะมี ‘ความรัก’ เหมือนอย่างที่เรา ๆ ท่าน ๆ มี จะมองความรักว่าความรักคืออะไรกันบ้าง ? วันนี้ ผู้เขียนขอพาทุกท่านมาส่องนิยามรักในความเข้าใจของตัวละครในวรรณคดีดูบ้าง ไม่แน่ว่าทัศนะของตัวละครเหล่านี้จะตรงกับคำจำกัดความในใจของผู้อ่านทอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย
อันความรักเหมือนน้ำอมฤต ได้ดื่มแล้วชื่นจิตพิศวง
ระงับโรคโศกสูญพูนพะวง เพราะรักรื่นยืนยงยั่วยวนใจ
คำประพันธ์ข้างต้นเป็นความตอนหนึ่งจากบทละครร้องเรื่อง สาวิตรี พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว บทละครร้องเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของสาวิตรี ชายาของพระสัตยวาน พยายามโต้ตอบกับพระยมในทุกวิถีทางเพื่อที่จะไม่ให้พระยมเอาดวงวิญญาณของพระสัตยวานไป ซึ่งจากคำประพันธ์ข้างต้น เป็นฉากที่พระสัตยวานและนางสาวิตรีพูดถึงความรักที่ทั้งสองมีให้กัน จะเห็นได้ว่าความรักในทัศนะของทั้งพระสัตยวานและสาวิตรีนั้นเป็นเสมือนน้ำอมฤต ที่เมื่อดื่มเข้าไปแล้วจะบังเกิดความสุขความสดชื่น ระงับโรคภัยและความโศกเศร้าทั้งปวง เฉกเช่นเดียวกับการที่ทั้งคู่มีกันและกันก็ไม่มีความทุกข์ใดในโลกนี้ ที่จะมีอำนาจมากพอที่จะทำลายความสุขอันเกิดจากความรักได้
ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน
ไม่ยินและไม่ยล อุปะสัคคะใดใด
ความรักเหมือนโคถึก กำลังคึกผิขังไว้
ก็โลดจากคอกไป บยอมอยู่ ณ ที่ขัง
หากพูดถึงนิยามความรักในวรรณคดีแล้วไม่ได้พูดถึงคำประพันธ์ข้างต้น บทความนี้ก็คงจะเหมือนขาดสิ่งใดไป เพราะคำประพันธ์ข้างต้นนี้เป็นวรรคทองจากวรรณคดีเลื่องชื่ออย่าง มัทนะพาธา หรือตำนานแห่งดอกกุหลาบ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นเรื่องราวความรักที่ไม่สมหวังของนางมัทนา เทพธิดาผู้เลอโฉมกับท้าวชัยเสน กษัตริย์แห่งกรุงหัสตินาปุระ โดยคำประพันธ์ข้างต้นนี้เป็นคำพูดของฤาษีกาละทรรศิน ผู้เลี้ยงดูมัทนาเสมือนลูก ได้กล่าวกับศุภางค์ ทหารคู่ใจของท้าวชัยเสน หลังจากที่ได้รับทราบว่ามัทนากับท้าวชัยเสนมีใจปฏิพัทธ์ต่อกัน ซึ่งในที่นี้กล่าวได้ว่า ทัศนะความรักของฤาษีกาละทรรศินนั้น มองว่าความรักเป็นประหนึ่งโรคอันสามารถบังตาให้มืดมน มองไม่เห็นซึ่งอุปสรรคหรือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเพราะความรักนั้นได้ อีกทั้งยังมองอีกว่าความรักเหมือนวัวที่มีพละกำลังและดุดัน ที่พร้อมจะแหกคอกออกจากที่กักขัง เช่นเดียวกับดวงใจเมื่อมีรัก ก็ย่อมจะกระโจนโลดแล่น ไม่ฟังใคร ไม่ยอมให้ผู้ใดมากักขังดวงใจรักนั้นไว้ได้
ด้วยพึ่งแรกรู้จักความรักนั้น ที่สำคัญทุกอย่างแต่ข้างดี
ลูกเอ๋ยยังไม่เคยรู้รสร้าย ที่ความรักกลับกลายแล้วหน่ายหนี
อันเจ็บปวดยวดยิ่งทุกสิ่งมี ไม่เท่าที่เจ็บช้ำระกำรัก
ความข้างต้นเป็นความตอนหนึ่งจากวรรณคดีชื่อดังอย่างเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ในฉากที่ขุนแผนได้รับรู้ว่าพลายงาม ลูกชายของตนกับนางวันทอง กำลังตกอยู่ในห้วงรักหลังจากได้พบนางศรีมาลา ลูกสาวพระพิจิตร เมื่อขุนแผนได้ทราบความในใจของพลายงามว่าตกหลุมรักศรีมาลาแล้ว ก็นึกถึงตัวเองเมื่อครั้งยังอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับพลายงาม และเริ่มรู้จักความรักเป็นครั้งแรก (เมื่อตกหลุมรักนางวันทอง) ครานั้น ขุนแผนมองว่าความรักเต็มไปด้วยแง่มุมที่ดี นำพามาแต่ความสุขความสดชื่น แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ความรักที่เคยมองว่าเป็นสิ่งอันดีงามหวานชื่นก็กลับกลายเป็นขื่นขม นำพาซึ่งความเจ็บปวดรวดร้าวมาให้ และเจ็บใดจะเจ็บยิ่งไปกว่าเจ็บเพราะรักนั้น ย่อมไม่มี
อดอะไรจะเหมือนอดที่รสรัก อกจะหักเสียด้วยใจอาลัยหา
ไม่เห็นรักหนักดิ้นในวิญญาณ์ จะเป็นบ้าเสียเพราะรักสลักทรวง
คำประพันธ์ข้างต้นเป็นความตอนหนึ่งจากวรรณคดีที่ใคร ๆ ก็รู้จักกันดีอย่างเรื่อง พระอภัยมณี ประพันธ์โดย พระสุนทรโวหาร (ภู่) ซึ่งเป็นกลอนในฉากที่สินสมุทร (โอรสของพระอภัยมณีกับนางผีเสื้อสมุทร) หายจากการตกอยู่ในอำนาจมนต์เสน่ห์ที่ยุพาผกา (ธิดาบุญธรรมของนางละเวงวัณฬา) ได้ทำใส่ ก็ได้เดินทางมาหาอรุณรัศมี (ธิดาของศรีสุวรรณกับเกษรา) คนรักของตนเองเพื่องอนง้อขอคืนดีด้วย หากแต่เมื่อคราที่สินสมุทรหลงเสน่ห์ยุพาผกาอยู่นั้น ตัวอรุณรัศมีเองต้องประสบกับความอับอายเป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อสินสมุทรกลับมาง้อขอคืนดี นางจึงมิยอมคืนดีโดยง่าย ซึ่งการคร่ำครวญของสินสมุทรที่ปรากฏในคำประพันธ์ข้างต้น แสดงให้เห็นอีกมิติหนึ่งของความรักว่าการที่เราต้องห่างจากคนที่รัก หรือไม่สมหวังในความรักอย่างที่สินสมุทรใช้คำว่า ‘อดรัก’ นั้น ความรักที่พลัดพรากนี้ก็สามารถทำให้ใจของเราทุกข์ทรมานเจียนคลั่งได้ยิ่งกว่าการอดสิ่งอย่างอื่น ซึ่งในชีวิตจริง ผู้อ่านหลายท่านก็อาจจะเคยมีความรู้สึกแบบที่สินสมุทรกำลังมี เมื่อตัวเราเริดร้างจากคนรัก หลายครั้งก็พาให้ทุกข์ตรมขมขื่นจนวันทั้งวันเป็นอันมัวหมองไป
เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
ครั้นจืดจางห่างเหินไปเนิ่นนาน แต่น้ำตาลก็ว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล
ยังคงอยู่กับเรื่อง พระอภัยมณี เรื่องเดียวกับคำประพันธ์ก่อนหน้า หากแต่คำประพันธ์ข้างต้นนี้ เป็นเหตุการณ์หลังจากที่พระอภัยมณี ได้นางละเวงวัณฬา เจ้าเมืองลังกา เป็นมเหสีเพิ่มอีกหนึ่งคน นางละเวงได้กล่าวความตามที่ผู้เขียนได้ยกมาเพื่อตัดพ้อกับพระอภัยมณีว่าในตอนนี้เพิ่งแรกรัก พระอภัยมณีก็ย่อมมองนางละเวงว่าดีไปหมดทุกอย่าง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความหวานที่เคยเกิดขึ้นเมื่อแรกรัก ก็อาจจะแปรเปลี่ยนไปเป็นขม จากน้ำตาลที่ว่าหวานก็อาจจะพาลกลายเป็นเปรี้ยวไป คำประพันธ์นี้แสดงให้เห็นทัศนะหนึ่งของความรักว่า เมื่อแรกรักนั้น คนที่มีรักอาจจะไม่รับรู้ได้ถึงความขมที่แอบแฝงอยู่ในความรักเพราะความหวานมันเต็มเปี่ยมในหัวใจไปเสียหมด แต่เมื่อใดที่ห่างเหินกันไปจนความรู้สึกรักที่เคยมีจืดจาง อะไรที่เคยว่าดีก็อาจเปลี่ยนแปลงไป ขนาดน้ำตาลที่รสชาติของมันคือความหวาน ในวันที่ความรักหมดไปจากหัวใจ เมื่อกลับมาชิมน้ำตาลนี้มันเกิดเปรี้ยวขึ้นมา
รักคือควันเกิดมีจากไอแห่งความถอนใจ;
พัดขึ้น, เหมือนอัคคีที่แววตาผู้รักไซร้;
ข้อง, เหมือนสมุทใหญ่เต็มน้ำตาแห่งผู้รัก,
และเปนอะไรอีก ? เปนความบ้าอันดีหนัก,
รสขมที่ขื่นนัก, และรสหวานสมานใจ.
วรรณคดีที่ผู้เขียนจะยกมาอีกเรื่องหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่เป็นที่คุ้นหูกันเป็นอย่างดี อย่างเรื่อง โรเมโอและจูเลียต เมื่อได้ยินชื่อ ผู้อ่านหลายท่านอาจจะทราบว่าต้นฉบับของเรื่องนี้ มาจากบทประพันธ์อมตะอย่าง Romeo and Juliet ของ William Shakespeare ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้นำบทประพันธ์ของเชกสเปียร์เรื่องนี้มาพระราชนิพนธ์แปลและดัดแปลงเป็นบทละครพูด และทรงใช้ชื่อเดียวกันกับบทประพันธ์ต้นฉบับ คือ โรเมโอและจูเลียต
ฉากที่ผู้เขียนได้ยกมาประกอบบทความในข้างต้น เป็นฉากที่โรเมโอกำลังพร่ำรำพันถึงความรักที่ตัวเองมีต่อจูเลียต ให้ เบ็นโวลิโอ เพื่อนรักของเขาฟัง ซึ่งคำประพันธ์นี้แสดงให้เห็นทัศนะของตัวโรเมโอเองที่มีต่อความรักได้ในหลายมิติ รักของโรเมโอเกิดจากควันอันมาจากความถอดถอนใจ เมื่อควันนั้นเกิดขึ้นนานวันเข้า ก็เริ่มพัดแรงจนกลายเป็นเปลวเพลิงสุมดวงตาของผู้ที่ตกอยู่ในห้วงรักนั้น นอกจากนี้ รักสำหรับโรเมโอยังเป็นทั้งมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ที่เก็บสะสมน้ำตาของผู้ที่มีรักนั้น เป็นทั้งความขมขื่น และเป็นทั้งความหวานที่ชุบชูหัวใจ เรียกได้ว่านิยามแห่งความรักของโรเมโอครอบคลุมทั้งความงดงามของความรัก และพิษร้ายอันเกิดจากความรักได้เป็นอย่างดีทีเดียว
อ่านมาถึงจุดนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าทัศนะความรักของตัวละครในวรรณคดีนั้นมิได้มีเพียงมุมมองที่มองความรักว่าเป็นสิ่งหวานชื่นเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมองว่าความรักเป็นเสมือนโรค เป็นยาพิษที่บั่นทอนความสุขสดชื่นในชีวิต และเป็นสิ่งที่อาจจะนำพาความชอกช้ำมาสู่หัวใจของผู้ที่มีรักได้เช่นกัน
ก่อนจะจบบทความนี้ ผู้เขียนก็ขอถามผู้อ่านอีกครั้งว่า แล้วนิยามความรักในใจของผู้อ่านเป็นแบบใดกันบ้าง ?
แหล่งอ้างอิง
มงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2529). สาวิตรี ความเรียงและบทละครร้อง (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์.
มงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (ม.ป.ป.). มัทนะพาธา. สืบค้นจาก https://vajirayana.org/มัทนะพาธา
มงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (ม.ป.ป.). โรเมโอและจูเลียต. สืบค้นจาก https://vajirayana.org/โรเมโอและจูเลียต
ห้องสมุดวชิรญาณ. (ม.ป.ป.). ขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ตอนที่ 28 พลายงามได้นางศรีมาลา. สืบค้นจาก https://vajirayana.org/ขุนช้างขุนแผน-ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ/ตอนที่-28-พลายงามได้นางศรีมาลา
สุนทรภู่. (ม.ป.ป.). พระอภัยมณี ตอนที่ 37 ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์. สืบค้นจาก https://vajirayana.org/พระอภัยมณี/ตอนที่-37-ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
สุนทรภู่. (ม.ป.ป.). พระอภัยมณี ตอนที่ 47 อภิเษกสินสมุทร. สืบค้นจาก https://vajirayana.org/พระอภัยมณี/ตอนที่-47-อภิเษกสินสมุทร