เจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง–สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวิกฤติทุนนิยม

แต้ซิงตึ๊ง
29 ธ.ค. 21
ใช้เวลาอ่าน : 7 นาที

ควันธูปสีเทาลอยขึ้นเป็นสายก่อนที่จะสลายกลายเป็นกลิ่นหอมอ่อน ๆ ท่วงทำนองบทสวดมนต์ดังคลอเป็นพื้นหลัง เทวรูปยังคงตั้งตระหง่านอยู่กลางศาลปีแล้วปีเล่า… รวมถึงปีนี้... แต่อาจจะไม่มีปีต่อไป...

 

#saveศาลเจ้าแม่ทับทิม” เคยเป็นกระแสฮือฮาในทวิตเตอร์เมื่อราว ๆ 1 ปีที่ผ่านมา สรุปง่าย ๆ คือ ศาลเจ้า (อีก) แห่งหนึ่งกำลังถูกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไล่ที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อนำที่ดินบริเวณนั้นไปสร้างเป็นคอนโดฯ อันจะสร้างกำไรมหาศาลให้แก่มหาวิทยาลัย โดยที่ตัวมหาวิทยาลัยมิได้สนใจความเดือดร้อนของชาวบ้านตาดำ ๆ เลยแม้แต่น้อย

ไม่เพียงแต่ศาลเจ้าเท่านั้น ชุมชนโดยรอบต่างก็ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ซึ่งนั่นก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะเกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน...  ประชาชน “ผู้มีอันจะกิน!”

และในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมานี้เอง หลายสำนักข่าวก็ได้ทำหน้าที่เผยแพร่ประวัติและความเป็นมาของศาลเจ้าแห่งนี้ได้อย่างสมบูรณ์เพียงพอที่แผนกสาราณียกรไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงเนื้อหาในส่วนนั้นอีกต่อไป

สิ่งที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ เรียบเรียงขึ้นใหม่จากบันทึกการให้สัมภาษณ์ “เมื่อปีที่แล้ว” ของ คุณนก-ผู้ดูแลศาลเจ้าฯ และคุณเดียร์-กรรมการศาลเจ้าฯ แต่ท่านไม่จำเป็นต้องกังวลใจไป เพราะเนื้อหาที่เราจะเล่าไม่ได้เก่าไปตามกาล เนื่องจากสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ยังคงทำหน้าที่ในการกลั่นแกล้งคนเล็กคนน้อยได้อย่างดยอดเยี่ยมจนน่ายกย่อง

ตั้งแต่การเอาต้นไม้มาปิดบังทางเข้าศาลเจ้าฯ การลักลอบตัดป้ายประชาสัมพันธ์เทศกาลทิ้งกระจาด การจำกัดทางเข้าออกศาลเจ้าฯ ให้เหลือเพียงทางเดียว ทั้งหมดนี้เพียงเพื่อจะได้เป็นข้ออ้างว่า “ศาลเดิมตั้งบนที่ดินร้าง... ทำให้การใช้งานลดลงอย่างมาก” (ผู้เชี่ยวชาญและสถาปนิกผู้คุมงาน “ภายใต้บังคับบัญชาของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ”, 2563) รวมถึงการสร้างศาลใหม่-เทวรูปองค์ใหม่แทน โดยมีจุดประสงค์เพื่อ “สับขาหลอก” ให้คนที่ตั้งใจมากราบไหว้เข้าใจผิดและบีบบังคับให้ศาลเจ้าแม่ทับทิม “องค์จริง” ต้องถูกย้าย ยิ่งไปกว่านั้นคือการส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาคุกคามกรรมการศาลเจ้าฯ การฟ้องศาลเพื่อกลั่นแกล้ง และการเรียกร้องค่าเสียหายถึง 122 ล้านบาท

 

ประกอบ เจ้าแม่5

ภาพที่ 1 ศาลเจ้าแม่ทับทิมฯ ที่ถูกบดบังด้วยต้นไม้ของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ จาก https://pmcu.co.th/ (ถูกลบออกไปแล้ว)

 

ประกอบ เจ้าแม่3

ภาพที่ 2 ชายชุดดำที่มาตามถ่ายรูปคณะกรรมการศาลเจ้าฯ ขณะพานักข่าวสำรวจศาล “ชั่วคราว” ที่สร้างโดยสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ขอบคุณภาพจาก ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม

 

Copy of ประกอบบทความ 01

ภาพที่ 3 คำสั่ง “ตัดเก็บ” ป้ายประชาสัมพันธ์เทศกาลทิ้งกระจาด (ภาพจำลอง)

 

ประกอบ เจ้าแม่4

ภาพที่ 4 คำชี้แจงจากผู้ที่เกี่ยวข้อง จาก https://www.facebook.com/groups/429224380754014/permalink/1226597351016709

 

หลายท่านที่เดินผ่านไปผ่านมาละแวกอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ อาจจะได้เห็นสิ่งก่อสร้างลักษณะเหมือนกับบ้านของเล่น (หรือห้องน้ำสาธารณะ ?) ที่บังเอิญคล้ายกับศาลเจ้าไปบ้างแล้ว... นั่นแหละคือศาลที่สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ สร้าง “ทดแทน” โดยที่ให้สัญญาว่าจะทำทุกอย่างให้ “เหมือนเดิม” 

ความฉาบฉวย ความไม่ใส่ใจ และการที่พูดแล้วทำไม่ได้ คือองค์ประกอบ คืออิฐและปูนของศาลแห่งนี้... เราทราบกันดีว่างานศิลปะเมื่อ 50 ปีที่แล้วกับทุกวันนี้ย่อมไม่เหมือนกัน แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลหรอกหรือ ที่เราจำเป็นต้องอนุรักษ์ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองแห่งนี้ไว้...

 

ประกอบ เจ้าแม่1

ภาพที่ 5

(ซ้าย) แบบร่างศาลใหม่ ที่แนบมาพร้อมกับ ‘คำชี้แจงของผู้ที่เกี่ยวข้อง’ จาก https://www.facebook.com/groups/429224380754014/permalink/1226597351016709

(ขวา) ศาลใหม่ที่สร้างโดยสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ

 

ประกอบ เจ้าแม่2

ภาพที่ 6

(ซ้าย) ประติมากรรมนูนสูง ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/1414978845381220/posts/2663979330481159

(ขวา) ประติมากรรม (?) นูนสูง ศาลใหม่ที่สร้างโดยสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ

 

ศาลเจ้าคือหลักฐานหนึ่งของการพัฒนาชุมชน คือศูนย์กลางของชุมชน คือที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชน คือแหล่งเรียนรู้ของชุมชน คือประวัติศาสตร์ของชุมชน และคือวิถีชีวิตของชุมชน

ดังนั้นแล้ว ศาลเจ้าที่ (กำลังจะ) หายไป ย่อมหมายถึงศูนย์กลางของชุมชนที่หายไป ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชนที่หายไป แหล่งเรียนรู้ของชุมชนที่หายไป ประวัติศาสตร์ของชุมชนที่หายไป วิถีชีวิตของชุมชนที่หายไป... และในที่สุดแล้ว ประวัติศาสตร์การมีอยู่ของชุมชนแห่งนี้ก็จะถูกทำให้หายไป... หรือถ้าดีหน่อย ก็คงเป็นได้แค่จุดถ่ายรูปจุดเล็ก ๆ ในนิทรรศการกลวง ๆ ของห้างสรรพสินค้าสุดหรูเท่านั้น

 

ศาลเจ้าแห่งนี้ จุฬาฯ ไม่ได้เป็นผู้สร้าง แต่จุฬาฯ กำลังเป็นผู้ทำลาย

เราไม่ได้ต้องการให้ทุกอย่างอยู่กับที่ในกงกาลที่หมุนไปไม่รู้จบ... เราทราบดีว่า วัฒนธรรมสามารถปรับตามยุคตามสมัยได้ แต่นั่นหมายความว่าเราก็ต้องไม่ละทิ้งแก่นดั้งเดิม และสิ่งนั้นคือสิ่งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  “มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งในเอเชีย” ทำไม่ได้

คำถามคือ...

แล้วจุฬาฯ จะมีศูนย์จีนศึกษาไปทำไม ในเมื่อตัวสถาบันยังไม่เคยเห็นค่าของมรดกทางวัฒนธรรม

จุฬาฯ จะมีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ไปทำไม ในเมื่อตัวสถาบันยังมุ่งแต่จะทำลายล้างมรดกทางสถาปัตยกรรม

จุฬาฯ จะมีคณะอักษรศาสตร์ (ที่สอนให้เข้าใจมนุษย์ ?) ไปทำไม ในเมื่อตัวสถาบันยังไม่เคยเห็นอกเห็นใจหรือแม้กระทั่ง “เห็นหัว” ชาวบ้านตาดำ ๆ

.

.

.

#saveศาลเจ้าแม่ทับทิม

 

 

แหล่งอ้างอิง

ตึกรามบ้านช่อง. (4 มิถุนายน 2563). ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง [Facebook]. สืบค้นจาก https://www.facebook.com/groups/429224380754014/permalink/1226597351016709 

ไหว้พระ ไหว้เจ้า. (2 มิถุนายน 2563). ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง [Facebook]. สืบค้นจาก https://www.facebook.com/1414978845381220/posts/2663979330481159

Tag: #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม
Share

แต้ซิงตึ๊ง

แต้ซิงตึ๊ง

Author

น้ำค้างแข็ง

น้ำค้างแข็ง

Proof Reader

อองฌอลราส์

อองฌอลราส์

Artworker

Suggestion
Book Cover
ประเด็นสังคมและข้อเรียกร้องทั่วไป

จากปรากฏการณ์ “ความศรัทธา” สู่ “ความสยอง” ที่ลืมไม่ลง

จิรภัทร คงถนอมธรรม
112
31 ต.ค. 23
Book Cover
ทั่วไปประเด็นสังคมและข้อเรียกร้อง

วันภาษามือโลก - เพราะทุกคนมี "สิทธิ" ที่จะสื่อสารอย่างเท่าเทียม

นวพร มั่นเกียรติกุล
77
29 ต.ค. 23
Book Cover
ประเด็นสังคมและข้อเรียกร้อง

National Youth Day : อนาคตของชาติ หรืออนาคตของใคร

ปุณณิศา พัดเพ็ง
66
28 ต.ค. 23