เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้เยี่ยมชมนิทรรศการ “พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้มีการรวบรวมและจัดแสดงพระพุทธรูปหลากหลายรูปแบบจากแต่ละยุคสมัยและภูมิภาคที่ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศไทยมาไว้ในนิทรรศการดังกล่าว ซึ่งผู้เขียนได้พบกับหลากหลายรูปแบบของพระพุทธรูปที่ไม่เคยเห็นมาก่อน อาทิเช่น พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา พระพุทธรูปปางสมาธิบนใบบัวขนาดเล็ก แต่สิ่งที่ดึงดูดความสนใจของผู้เขียนมากที่สุดจากการเข้าชมนิทรรศการครั้งนั้นมีลักษณะที่แปลกตาไปจากพุทธปฏิมา (หมายถึงรูปตัวแทนพระพุทธเจ้า ซึ่งก็คือพระพุทธรูปนั่นเอง) รูปแบบอื่น ๆ ในนิทรรศการ เนื่องด้วยพุทธปฏิมาอันเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้านั้นคือโลงศพที่บรรจุพระพุทธสรีระเอาไว้ข้างใน และมีเพียงแค่พระบาทของพระองค์ที่ยื่นออกมาจากโลงศพ อีกทั้งยังประกอบไปด้วยพุทธสาวกอีกจำนวน 5 รูปที่กำลังสักการะและไว้อาลัยให้กับการเสด็จดับขันปรินิพพานของพระพุทธเจ้าเป็นครั้งสุดท้าย และบางรูปก็ได้แสดงอากัปกริยาที่แสดงถึงความโศกเศร้าต่ออภิมหาความสูญเสียของพวกเขาในครั้งนั้น
หลังจากที่ผู้เขียนและเพื่อนได้รับชมพระพุทธรูปปางดังกล่าว พวกเราก็เกิดความใคร่รู้และต้องการที่จะหาข้อมูลเกี่ยวกับพระพุทธรูปปางดังกล่าวให้มากขึ้น แต่กลับไม่พบข้อมูลมากนัก เพราะพวกเราทั้งสองคนต่างตื่นตาตื่นใจกับสิ่งที่ได้เห็นจนไม่ได้จดจำชื่อเรียกอย่างเป็นทางการของพระพุทธรูปดังกล่าวมา ทำให้การค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเป็นไปอย่างจำกัด อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามภัณฑารักษ์ผู้ดูแลและให้ข้อมูลประจำนิทรรศการในครั้งนั้นโดยการพบเจอกันอย่างบังเอิญอีกครั้ง ณ พิพิธภัณฑ์แห่งเดิม พวกเราก็ได้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อทางการของพระพุทธรูปดังกล่าวที่มีชื่อว่า “พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง” และได้ทราบว่าโดยปกติแล้วพระพุทธรูปจะจัดแสดงประจำ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งหลังจากที่สิ้นสุดนิทรรศการแล้วก็จะส่งคืนไปยังที่สิงห์บุรีตามเคย แต่กระนั้นภัณฑารักษ์ก็ได้แนะนำว่าบางวัดภายในกรุงเทพมหานครเองก็มีการสร้างพุทธปฏิมาในลักษณะดังกล่าวอยู่ด้วยเช่นกัน จากข้อมูลดังกล่าวจึงได้จุดประกายทั้งผู้เขียนและเพื่อน สู่การสรรสร้างเรื่องราวของบทความนี้ในการเดินทางเสาะหาพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงอันแปลกตาและหาชมได้ยากที่ดำรงอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อทั้งสนองความต้องการของตนเองในการตามรอยและสืบค้นเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม รวมถึงเพื่อเป็นการเผยแพร่เรื่องราวของพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นพุทธปฏิมากระแสรอง ให้ผู้คนได้รู้จักเพิ่มมากขึ้น
พุทธปฏิมากับการสร้างภาพแทนพุทธประวัติตอนพิธีถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ
พุทธศาสนิกชน รวมไปถึงคนไทยหลายคนที่ผ่านการเรียนในรายวิชาพระพุทธศาสนามาอาจคุ้นเคยกับ “วันอัฏฐมีบูชา” หรือวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ นับเป็นเวลา 7 วันหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ณ เมืองกุสินารา นำโดยเหล่ามัลละกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองดังกล่าวที่เป็นผู้สนับสนุนในการจัดทำพิธี โดยขั้นตอนในการทำพิธีดังกล่าวนั้นได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติจากพระอานนท์ ซึ่งต้องมีการห่อพระพุทธสรีระด้วยผ้าที่หนาถึง 500 ชั้น จากนั้นจึงนำบรรจุลงในพระหีบทอง แล้วจึงนำขึ้นเชิงตะกอน แต่เมื่อถึงเวลาที่จะทำการถวายพระเพลิงโดยเหล่ามัลละกษัตริย์แล้วนั้น ด้วยหนทางวิธีใดก็ไม่สามารถทำให้ไฟลุกช่วงขึ้นมาได้พระอนุรุทธ์หรือพระพุทธสาวกผู้เป็นพระประยูรญาติของพระพุทธเจ้า ได้บอกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นไปตามประสงค์ของเหล่าเทพยดาที่ต้องการรอคอยให้พระมหากัสสปะ ซึ่งเป็นหนึ่งในพระพุทธสาวกที่มีความสำคัญและได้รับการยกย่องเป็นอย่างมากในพุทธประวัติ ได้มาเข้าร่วมพิธีดังกล่าวก่อน และหลังจากที่พระมหากัสสปะพร้อมด้วยบริวารพระภิกษุได้มาถึงพื้นที่ในการทำพิธี จึงได้เข้าถวายสักการะพระพุทธสรีระเป็นครั้งสุดท้าย พร้อมตั้งจิตอธิษฐานให้พระบาทของพระพุทธเจ้ายื่นออกมาจากพระหีบทอง เพื่อเป็นการรับการสักการะของตน ทันใดนั้นก็เกิดปาฏิหาริย์ตามคำอธิษฐานของตน พระมหากัสสปะจึงได้เข้าไปสัมผัสและน้อมศีรษะของตนกับพระบาทของพระพุทธเจ้า หลังจากที่พระมหากัสสปะและเหล่าบริวารได้ถวายนมัสการพระบาทเป็นครั้งสุดท้ายแล้วนั้น พระบาทของพระพุทธเจ้าก็ได้กลับเข้าไปยังพระหีบทองดังเดิม ท้ายที่สุดแล้วเหล่าเทพยดาก็ได้บันดาลให้เพลิงลุกไหม้พระพุทธสรีระในที่สุด (ศานติ ภักดีคำ, 2555, หน้า 228-229)
พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงเองก็เป็นหนึ่งในรูปแบบของการสร้างพุทธปฏิมาเพื่อถ่ายทอดและเป็นการสร้างภาพแทนของพุทธประวัติในช่วงเหตุการณ์ของวันอัฏฐมีบูชา เฉกเช่นเดียวกับที่พุทธปฏิมารูปแบบอื่น ๆ เองก็ได้หยิบพุทธประวัติในตอนที่มีความสำคัญต่าง ๆ มาสร้างเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า อาทิเช่น พระพุทธปางมารวิชัย อันเป็นหนึ่งในปางที่สามารถพบเห็นได้มาก ซึ่งสร้างขึ้นโดยอ้างอิงจากพุทธประวัติในตอนที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากที่เหล่ามารผจญได้ยกทัพมาก่อกวนพระพุทธเจ้า ด้วยหวังว่าจะทำลายการปฏิบัติธรรมของพระองค์ (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2563) ซึ่งจุดประสงค์ของการสร้างพุทธปฏิมาในรูปแบบต่าง ๆ นั้นเพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้กราบไหว้และทรงรำลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ (พุทธรักษ์ ปราบนอก, 2559, หน้า 244) เพียงแต่ที่พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงอาจไม่ได้รับความนิยมในการสร้างอย่างกว้างขวาง ซึ่งจากการวิเคราะห์ของผู้เขียนและเพื่อนแล้วนั้น อาจเป็นเพราะพระพุทธปรูปปางถวายพระเพลิงอาจไม่ได้แสดงใหเห็นถึงรูปร่างหรือลักษณะการเป็นรูปแทนของพระพุทธเจ้าได้อย่างชัดเจน ซึ่งมีเพียงสิ่งเดียวที่แสดงให้เห็นถึงรูปลักษณ์หรือพระวรกายของพระองค์คือพระบาทที่ยื่นออกมาจากพระหีบทอง อีกทั้งเหตุการณ์พุทธประวัติที่เต็มไปด้วยความเศร้าโศกจากการสูญเสียและการจากลาครั้งยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนา อาจเป็นภาพแทนซึ่งแลดูไม่เป็นมงคลจากที่พุทธปฏิมาดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับความตายด้วยเช่นกัน แต่กระนั้นพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงเองก็มีรูปแบบการสร้างที่หลากหลายและแตกต่างไปจากที่ผู้เขียนและเพื่อนได้เห็นในนิทรรศการของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อีกทั้งบางที่ยังบรรจุไว้ซึ่งความเชื่อและประวัติศาสตร์ชาติไทยไว้อย่างน่าสนใจอีกด้วย ดังที่ผู้เขียนจะได้บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางเสาะหาพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงภายในกรุงเทพมหานครในส่วนต่อไป
พุทธเจดีย์ปรินิพพาน ณ วัดเอี่ยมวรนุช
ในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2566 ผู้เขียนได้นัดหมายกับเพื่อนคนเดิมที่มีความสนใจร่วมกันเกี่ยวกับพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง ในการเริ่มปฏิบัติการเดินทางตามรอยพระพุทธรูปดังกล่าวในพื้นที่ที่ผู้เขียนและเพื่อนพอที่จะสามารถเดินทางไปได้ถึง ซึ่งก็คือภายในกรุงเทพมหานครนั่นเอง โดยที่แรกที่พวกเราได้ไปคือวัดเอี่ยมวรนุช บริเวณสี่แยกบางขุนพรหม เยื้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งในบริเวณดังกล่าวกำลังมีการสร้างทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งในช่วงหนึ่งเองก็มีประเด็นการเวนคืนพื้นที่ของวัดเอี่ยมวรนุชอันเป็นโบราณสถานเก่าแก่ เพื่อสร้างรถไฟฟ้าอีกด้วย (กรุงเทพธุรกิจ, 2564) ซึ่ง ณ ขณะที่พวกเราได้ไปเยือนวัดดังกล่าวนั้นพบว่า ส่วนของกำแพงวัดนั้นมีการถูกถอดออกไปเพื่อเอื้อต่อโครงการสร้างรถไฟฟ้า แต่ก็ยังสามารถเข้าเยี่ยมชมภายในบริเวณวัดได้ตามปกติ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกประหลาดใจคือ ภายในวัดดังกล่าวบรรจุไว้ซึ่งรูปเคารพของหลากหลายความเชื่อทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพระพรหม หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด หรือวิหารของเจ้าแม่กวนอิม และระหว่างกลางของเจ้าแม่กวนอิมและหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดคือ “พุทธเจดีย์ปรินิพพาน” หรือเจดีย์ถวายพระเพลิงพระศาสดา ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของพวกเรานั่นเอง
พุทธปฏิมาดังกล่าวไม่ได้ถูกสร้างในรูปแบบของพระพุทธรูปอย่างที่พวกเราเคยเห็นในพิพิธภัณฑ์ แต่เป็นในลักษณะของเจดีย์สีขาวขนาดเล็กที่มีพระบาทสีทองยื่นออกมาจากพระหีบสีขาวที่หล่อด้วยปูน อีกทั้งในเบื้องหลังยังมีพระประธานองค์สีทอง ซึ่งทั้งหมดถูกบรรจุไว้ในสถูปหรือศาลาสีขาวที่ตกแต่งด้วยลวดลายสีเขียว แซมด้วยสีทองโดยรอบและยอดของสถูป จากการบอกเล่าของผู้ดูแลวัดนั้น เจดีย์ดังกล่าวถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกับช่วงการก่อตั้งวัด ซึ่งคิดเป็นเวลากว่า 200 ปี ซึ่งเจดีย์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการประยุกต์และตีความพุทธประวัติที่แตกต่างไปจากที่บอกเล่ากันมา คือการสร้างพระหีบสีขาว แทนที่จะเป็นสีทอง อีกทั้งยังมีการลดทอนองค์ประกอบอย่างพระพุทธสาวกคนสำคัญ ผู้กราบไหว้พระบาทภายในพิธีถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ยังสามารถแสดงให้เห็นถึงความเป็นรูปแทนเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ได้ในระดับหนึ่ง
หลังจากที่ได้เยี่ยมชมวัดเอี่ยมวรนุชและสำเร็จผลตามความตั้งใจของผู้เขียนและเพื่อนแล้วนั้น จุดหมายถัดไปของพวกเราคือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ ที่ภัณฑารักษ์ได้แนะนำไว้เช่นกันว่ามีพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงประดิษฐานอยู่ด้วย แต่จากการโทรสอบถามกับเจ้าหน้าที่ของวัดพบว่า พระวิหารที่จัดเก็บพระพุทธรูปดังกล่าวไม่ได้เปิดให้เข้าชมในวันนั้น จึงทำให้พวกเราพลาดโอกาสไป พวกเราจึงมุ่งหน้าไปสู่จุดหมายถัดไปคือวัดอินทารามวรวิหาร
พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง ณ วัดอินทารามวรวิหาร
ผู้เขียนและเพื่อนได้เดินทางจากวัดเอี่ยมวรนุชไปยังวัดอินทารามที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับตลาดพลูด้วยรถเมล์ประจำทางสาย 9 ซึ่งผ่านป้ายรถเมล์ที่อยู่ตรงข้ามกับวัดดังกล่าวพอดี โดยวัดอินทารามฯ นั้นถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวัดที่มีความเก่าแก่ในย่านฝั่งธนบุรี อีกทั้งยังเป็นวัดประจำพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินและเป็นที่ที่เก็บรักษาพระอัฐิของพระองค์ไว้อีกด้วย (พัฒโนไทย, 2563) ซึ่งวัดดังกล่าวมักเป็นที่รู้จักกันจากความสัมพันธ์ที่มีต่อกษัตริย์ในยุคหนึ่งของไทย แต่อีกหนึ่งสิ่งที่อาจไม่ได้รับการพูดถึงมากนักคือ ในวัดดังกล่าวก็มีพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงที่ถือได้ว่ามีลักษณะสมบูรณ์มากอยู่ด้วย
เมื่อพวกเราได้เดินทางถึงที่วัดแล้ว ภายในวัดค่อนข้างสงบและมีพื้นที่กว้างพอประมาณ ทำให้พวกเราต้องเดินหาเป้าหมายของเราอยู่สักพักหนึ่ง เนื่องด้วยไม่มีใครภายในวัดที่พวกเราสอบถามข้อมูลได้ สุดท้ายแล้วเราก็ได้พบกับพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงที่ประดิษฐานอยู่ภายในกุฏิขนาดเล็ก ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งที่ติดกับถนนใหญ่ เมื่อเข้าไปภายในกุฏิพบว่ามีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันเลืองลางอยู่โดยรอบกุฏิ และตรงกลางกุฏิคือพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงขนาดใหญ่ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับที่พวกเราได้เห็นในพิพิธภัณฑ์ แต่การจัดวางองค์ประกอบนั้นจะเป็นแถวยาวแนวนอน โดยเริ่มจากพระหีบทองที่บรรจุพระพุทธสรีระ พร้อมทั้งพระบาทที่ยื่นออกมา และถัดไปคือพระพุทธสาวกที่กำลังกราบไหว้พระบาทของพระพุทธเจ้าเป็นครั้งสุดท้าย แต่พระพุทธรูปปางนี้ประกอบด้วยพระพุทธสาวกเพียงแค่ 3 รูปเท่านั้น ซึ่งรูปแรกคาดไว้ว่าเป็นรูปแทนของพระมหากัสสปะนั่นเอง
พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงของวัดอินทารามฯ นั้นถือได้ว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของพวกเราในการเดินทางครั้งนี้ เพราะเป็นพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงอันแรกที่พวกเราได้พบเจอในช่วงสืบค้นข้อมูลหลังจากที่ได้เข้าชมนิทรรศการของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครครั้งนั้น การได้รับชมของจริงจึงเป็นการเติมเต็มจิตใจใฝ่ความใคร่รู้ของพวกเราเป็นอย่างมาก และหลังจากที่พวกเราได้อิ่มเอนกับการรับชมพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงที่วัดดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พวกเราก็ได้เดินเท้าไปยังจุดหมายสุดท้าย ซึ่งก็คือวัดราชคฤห์วรวิหาร ที่อยู่ถัดออกไปจากวัดอินทารามฯ ไม่ไกลนัก
หลวงพ่อนอนหงาย: พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงแบบไร้พระหีบ ณ วัดราชคฤห์วรวิหาร
หลวงพ่อนอนหงาย หรือ พระพุทธปางถวายพระเพลิงแห่งวัดราชคฤห์วรวิหารนั้นถือได้ว่ามีความสัมพันธ์กับสถาบันกษัตริย์ไทยและประวัติศาสตร์ของพื้นที่แขวงบางยี่เรือด้วยเช่นกัน โดยจากการบอกเล่าของพระภิกษุณีประจำวัด ในขณะที่พวกเรากำลังเยี่ยมชมพระพุทธรูปดังกล่าวอยู่ในพระอุโบสถได้เล่าว่า เมื่อครั้งที่พระเอกาทศรถพยายามที่จะสร้างบ้านเมืองในบริเวณบางยี่เรือนั้น กลับเต็มไปด้วยอุปสรรคและภัยธรรมชาติที่ทำให้ไม่สามารถตั้งเมืองได้ ซึ่งโหราจารย์คนหนึ่งในขณะนั้นก็ได้เสนอให้พระเอกาทศรถสร้างองค์พระพุทธรูปแบบนอนหงายหรือปางถวายพระเพลิง เพื่อเป็นการแก้เคล็ดให้สามารถก่อร่างบ้านเมืองได้อย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งหลังจากที่พระเอกาทศรถได้สร้างพระพุทธรูปนั้นแล้ว การสร้างบ้านเมืองในบริเวณดังกล่าวก็ไม่มีปัญหาอีกต่อไป อีกทั้งในเวลาต่อมา พระยาพิชัยดาบหัก ซึ่งเป็นทหารเอกประจำรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ก็ได้ทำการปฏิสังขรณ์หรือบูรณะหลวงพ่อนอนหงาย เพื่อเป็นการอุทิศบุญกุศลให้แก่เหล่าเพื่อนทหารและประชาชนที่ได้เสียชีวิตไปในช่วงการทำสงคราม
สิ่งที่ทำให้พระพุทธรูปองค์นี้มีความพิเศษจากที่อื่นที่ผู้เขียนและเพื่อนได้ไปเยือนมา คือ ลักษณะของพระพุทธรูปดังกล่าวที่มีองค์รูปแทนพระพุทธสรีระที่ถูกคลุมด้วยจีวรผืนใหญ่ทั่วร่างกาย เหลือเพียงแค่ศีรษะและพระบาทของพระองค์ และที่ปลายพระบาทก็มีพระพุทธสาวกที่กำลังกราบไหว้พระบาทของพระพุทธเจ้าอยู่ ซึ่งไม่ได้สร้างเป็นพระหีบ แต่ยังคงไว้ซึ่งพระวรกายของพระพุทธเจ้าในลักษณะนอนหงาย อย่างไรก็ตาม จุดเด่นสำคัญของพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงอย่างพระบาทของพระพุทธเจ้าก็ยังเป็นจุดสำคัญอยู่ จากวิธีการกราบไหว้บูชาที่ผู้ไหว้จะต้องแตะที่พระบาทของพระพุทธรูปเพื่อให้การขอพรสัมฤทธิ์ผล อีกทั้งพระภิกษุณียังได้บอกเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์และอภินิหารของพระพุทธรูปดังกล่าวที่ได้ประทานพรให้กับผู้ที่มากราบไหว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสุขภาพและความสำเร็จในหน้าที่การงาน ซึ่งพระภิกษุณีได้บอกเล่าถึงกรณีของผู้ที่มากราบไหว้ที่เป็นโรคเรื้อรังและรักษาไม่หายมาเป็นเวลานาน แต่เมื่อเขาได้มาขอพรจากพระพุทธรูปองค์นี้ โรคที่เป็นมาอย่างยาวนานกลับหายเป็นปลิดทิ้ง เมื่อเปรียบเทียบกับพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงที่พวกเราได้พบเจอมาในการเดินทางครั้งนี้ หลวงพ่อนอนหงายแห่งวัดราชคฤห์ฯ ถือได้ว่าแตกต่างจากองค์อื่นเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของรูปแบบการสร้าง รวมถึงเรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์และอภินิหารที่พวกเราไม่ได้รับรู้จากองค์อื่น ๆ อีกด้วย
จากการเดินทางตามล่าหาพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงทั่วกรุงเทพมหานครของผู้เขียนและเพื่อนนั้นได้ไขข้อข้องใจของพวกเราเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวและทำให้ได้เห็นถึงวัฒนธรรมและความเชื่อของการสร้างพุทธปฏิมาหรือรูปแทนพระพุทธเจ้าในลักษณะอื่น ๆ อันแปลกตาที่นอกเหนือจากรูปแบบที่พวกเราเห็นกันเป็นประจำในพื้นที่กระแสหลัก อีกทั้งการตีความพุทธประวัติของแต่ละกลุ่มเพื่อสร้างพุทธปฏิมาที่แตกต่างกัน ยังแสดงให้เห็นถึงความลื่นไหลของความเชื่อทางศาสนาที่ไม่ได้ถูกกำหนดไว้อย่างตายตัวและเป็นแบบแผนที่ชัดเจนเสมอไป แต่ในพื้นที่ของการสร้างพุทธปฏิมายังได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้สร้างได้ใช้จินตนาการอันผูกพันกับความศรัทธาในศาสนาของตัวเอง ในการก่อร่างรูปแทนของพระพุทธเจ้าให้ผู้คนได้กราบไหว้และระลึกถึงพระองค์ในรูปแบบที่แตกต่างหลากหลายอีกด้วย
แหล่งอ้างอิง
กรุงเทพธุรกิจ. (2564, 5 มีนาคม). 'วัดเอี่ยมวรนุช' ประวัติและตำนาน ในวันที่อาจต้องเปลี่ยนแปลง. https://www.bangkokbiznews.com/social/925843
พัฒโนไทย. (2563, 14 พฤษภาคม). ไหว้พระดี วัดดัง ฝั่งธนบุรี "วัดอินทาราม อนุสรณ์สันติสถานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช." https://travel.trueid.net/detail/Oy7llrkGVggE
พุทธรักษ์ ปราบนอก. (2559). พุทธปรัชญาในพุทธปฏิมา. มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 33(3), 241-263. https://so01.tci-thaijo.org/index.php/HUSO/article/view/75008/61786
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. (2563, 13 ตุลาคม). ๙ ปางมารวิชัย. https://www.onab.go.th/th/content/category/detail/id/77/iid/3518
ศานติ ภักดีคำ. (2555). พระพุทธปฏิมาวัดโพธิ์. บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.